กรมทางหลวงทุ่ม 5 พันล้าน จุดพลุพื้นที่โซนเหนือ ตัดถนนเชื่อมวงแหวนตะวันตก-ออก

กรมทางหลวงจุดพลุพื้นที่โซนเหนือ ขีดแนวถนน East-West Corridor เชื่อมวงแหวนรอบนอกตะวันออก-ตะวันตก ระยะทาง 33 ก.ม. ค่าก่อสร้าง 5-6 พันล้านบาท เวนคืน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งที่นาและบ้านเรือนสร้างสะพานแห่งใหม่ ช่วยย่นระยะเวลาเดินทาง เสริมโครงข่ายคมนาคมสมบูรณ์แบบมากขึ้น เผยอนาคตจะเชื่อมวงแหวนรอบที่ 3 ที่มีแผนจะก่อสร้าง เปิดทำเลทองการพัฒนาแห่งใหม่แถบปทุมธานี ทั้งสามโคก-คลองหลวง-ลาดหลุมแก้ว

นายจำนง ประยงค์รัตน์ วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง กรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ต่อเชื่อมกับถนนบางพูน-บางปะหัน (ทางหลวงหมายเลข 347) และเชื่อมโยงถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกไปบรรจบถนนลำลูกกา-วังน้อย-สิงห์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 352) โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวงเงิน 15 ล้านบาท จะศึกษาแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2552 จากนั้นจะออกแบบรายละเอียด แล้วออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและตั้งงบประมาณก่อสร้าง ทั้งหมดนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2556


ทั้งนี้เส้นทางสายดังกล่าวถือเป็นเส้นทาง East-West Corridor หรือถนนเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเสริมให้โครงข่ายเส้นทางคมนาคมทางโซนเหนือด้านบนสมบูรณ์มากขึ้น จากเดิมที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้มาก ต่างจากพื้นที่ในเมืองที่เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงทั่วถึง อาทิ รัตนาธิเบศร์ แคราย เกษตร-นวมินทร์ ถนน 345 แจ้งวัฒนะ รามอินทรา เป็นต้น ขณะที่ในพื้นที่ที่ศึกษาใหม่มีถนนเดิมคือสาย 347 อยู่แล้ว เมื่อขีดแนวถนนใหม่เพิ่มจะสามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น โดยในการดำเนินการจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินบางจุด อย่างริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสามโคก เป็นต้น


นายจำนงกล่าวว่า เมื่อก่อสร้างถนนเส้นนี้แล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นทางลัดแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาความคับคั่งของการจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี เสริมโครงข่ายเชื่อมโยงทางหลวงในแนวทิศทางด้านตะวันออก-ด้านตะวันตกให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในอนาคตจะต่อเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งกรมทางหลวงศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว


"เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางลัดเชื่อมฝั่งตะวันออก-ตะวันตก โดยไม่ต้องเดินทางอ้อมไปที่บางปะอินและวกกลับมา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางมากขึ้น สำหรับแนวเส้นทางที่หยิบยกขึ้นมาศึกษาจะอยู่บริเวณตอนเหนือของถนนวงแหวนรอบนอก จากปัจจุบันมีแต่แนวเหนือ-ใต้ และการเดินทางยังต้องอาศัยถนนสายหลักและสายรอง"


ลักษณะของโครงการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก กึ่งกลางระหว่างทางแยกต่างระดับลาดหลุมแก้วกับแยกต่างระดับสามโคก ลากตรงไปผ่ากลางทุ่งนาและอาคารบ้านเรือนบริเวณอำเภอสามโคก แล้วตัดผ่านถนนปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวง หมายเลข 3111) จากนั้นจะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปอีกฝั่งหนึ่ง ตัดผ่านถนนบางปะอิน-เชียงรากน้อย (ทางหลวงหมายเลข 3309) ทุ่งนาและอาคารบ้านเรือน แล้วตรงไปตัดผ่านถนนบางพูน-บางปะหัน เชื่อมถนนคลองหลวง (ทางหลวงหมายเลข 3214) ซึ่งเป็นถนนเดิมที่มีอยู่แล้ว ผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แล้วตรงไปบรรจบกับถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) บริเวณทางแยกต่างระดับคลองหลวง มีระยะทาง 17 กิโลเมตร


"ช่วงนี้จะเป็นการก่อสร้างถนนแนวใหม่ ระยะทางยาวประมาณ 9-10 กิโลเมตร จากจุดเริ่มต้น และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบกับถนนบางพูน-บางปะหัน ที่เหลือเป็นการขยายถนนเดิมคือถนนคลองหลวง จะเปิดหน้าดินช่วงที่มีการตัดถนนใหม่ทำให้เข้า-ออกได้สะดวกขึ้น เพราะปัจจุบันบริเวณนั้นมีถนนสามโคกเพียงเส้นเดียว เท่ากับเปิดทำเลใหม่ และคาดว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ ตามมาในอนาคต"


ช่วงที่ 2 เริ่มต้นจากแนวถนนคลองหลวง บริเวณจุดตัดกับถนนพหลโยธินที่ต่างระดับคลองหลวง แล้วตรงไปบนถนนเดิม ผ่านวัดพระธรรมกาย ตัดผ่านถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก สิ้นสุดที่ถนนลำลูกกา-วังน้อย-สิงห์บุรี มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร โดยจะขยายถนนเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมระยะทางทั้ง 2 ช่วงความยาวประมาณ 33 กิโลเมตร


โดยรวมพื้นที่ที่ศึกษาซึ่งเป็นจุดที่โครงการจะตัดผ่านจะครอบคลุมพื้นที่ อ.สามโคก อ.คลองหลวง อ.เมือง และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี รวม 17 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลสามโคก ท้ายเกาะ เชียงรากน้อย บ้านปทุม คลองควาย บ้านงิ้ว บางกระบือ บางเตย เชียงรากใหญ่ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม คลองสี่ คลองห้า คลองหก บางพูด และบางหลวง


นายจำนงกล่าวต่อว่า ในการก่อสร้างจะก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 สะพาน เพื่อเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเข้าหากัน รูปแบบตัวสะพานจะคล้ายๆ กับสะพานพระราม 4 ที่บริเวณห้าแยกปากเกร็ด ค่าก่อสร้างขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินวงเงินโดยบริษัทที่ปรึกษา แต่คาดว่าน่าจะใช้งบฯก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ 1 สะพาน ไม่รวมค่าเวนคืน อย่างไรก็ตามจะพยายามเลี่ยงการเวนคืนให้มากที่สุด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 6/10/2551