นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าภายในสัปดาห์หน้า กรมฯ จะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาเหล็ก และคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืช เพื่อหารือถึงสถานราคาสินค้า หลังจากที่แนวโน้มวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทั้งสองชนิดมีราคาลดลง โดยเฉพาะวัตถุดิบเหล็กในตลาดโลกขณะนี้ มีราคาลดแล้วกว่า 30% ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดราคาแนะนำเหล็กเส้นและเหล็กรีดร้อนเดือนต.ค.ลงมา
ขณะที่ กลุ่มน้ำมันพืชนั้น ราคาน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลง จากราคาผลปาล์มดิบในตลาดปัจจุบัน ปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.20-4 บาท จากช่วง 1-2 เดือนก่อน ที่ผลปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.80-5 บาท ถือเป็นการปรับราคาที่ลดลงมามาก เทียบกับช่วงต้นปีที่ผลปาล์มดิบเคยสูงสุดกิโลกรัมละ 6 บาท ทำให้น้ำมันปาล์มบรรจุขวดในตลาด ขณะนี้จำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 38-42 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาเพดานที่กรมฯกำหนดขวดละ 47.50 บาท
กลุ่มสินค้าเหล็กมีแนวโน้มต้องปรับราคาลงมา เพราะวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง การใช้เหล็กภายในประเทศอยู่ในช่วงซบเซา เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างและการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ค่อยมี ส่วนน้ำมันปาล์มลดลง จากผลปาล์มดิบราคาตกต่ำ เบื้องต้นในการช่วยเกษตรกร จะขอให้กระทรวงพลังงานดำเนินการนำผลปาล์มดิบผลิตไบโอดีเซลให้เป็นไปตามแผนเดิม เพื่อพยุงราคาไม่ให้ผลปาล์มดิบตกต่ำมากกว่านี้ นายยรรยง กล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วัตถุดิบเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยราคาเหล็กแท่งทรงยาว (บิลเล็ต) ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์ จากช่วงกลางปีที่เคยขึ้นไปถึง 800-900 ดอลลาร์ เศษเหล็กราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 300 ดอลลาร์ จากช่วงกลางปีราคาอยู่ที่ 400-500 ดอลลาร์ เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของตลาดโลกไม่ค่อยมากและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาเหล็กเส้นในประเทศขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท จาก 30 บาท ช่วงกลางปี
ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะปรับราคาแนะนำเหล็กภายในประเทศลดลงนั้น มองว่าควรจะปล่อยให้ราคาเหล็กปรับลดลงเองตามกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้เหล็กภายในประเทศราคาลดลงมาด้วยตัวเอง และมีแนวโน้มลดลงอีก จากวิกฤติการเงินในสหรัฐที่กลุ่มกำลังประเมินผลกระทบ ทำให้กำลังซื้อเหล็กของโลกชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ผู้ใช้เหล็กในประเทศเกิดภาวะตื่นและชะลอการซื้อเหล็กลงด้วยเช่นกัน เพราะเกรงว่าราคาเหล็กจะลดลงอีก ซึ่งคาดว่าราคาเหล็กในเดือนพ.ย. น่าจะเป็นการปรับฐานที่สอดคล้องกับสต็อกเหล็กและความต้องการใช้จริง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 8/10/2551