สร้างบ้านใหม่ ควรเลือกสถาปนิกอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียอารมณ์

Chatsittichai Civil Website บริษัท ฉัตรสิทธิ์ติชัย การโยธา จำกัด :  รับสร้างโรงงาน รับสร้างอาคาร รับสร้างบ้าน บริการให้คำปรึกษาสินเชื่อด้วนการก่อสร้าง รับต่อเติมบ้าน รับต่อเติมอาคาร รับสร้างโรงงานสมุทรปราการ  รับเหมาก่อสร้างกรุงเทพและปริมณฑล


 

เลือกคนที่ใช่ ใส่ใจขั้นตอน ก่อนสร้างบ้านใหม่


บ้านในฝันของเราจะออกมาดีได้หรือไม่ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ คนที่จะมาช่วยเราสร้างบ้าน สำหรับเจ้าของบ้านที่กำลังคิดสร้างบ้านใหม่โดยตัดสินใจไม่พึ่งบริษัทรับสร้างบ้าน ก็จะต้องเฟ้นหาสถาปนิกและผู้รับเหมาด้วยตนเอง แล้วทำอย่างไรถึงจะได้สถาปนิกและผู้รับเหมา ที่ดี ที่ใช่ เพื่อช่วยสานฝันของคนอยากมีบ้านให้เป็นจริงได้โดยราบรื่น อันดับแรกขอเริ่มที่สถาปนิกกันก่อนค่ะ


บทบาทของสถาปนิก

สถาปนิกเป็นผู้รวบรวมโจทย์ต่างๆ จากเจ้าของบ้าน ทั้งจำนวน พฤติกรรมและความต้องการของสมาชิกในบ้าน ผนวกกับพื้นฐานความรู้การออกแบบ เช่น สภาพอากาศ แดด ลม ฝน สภาพพื้นที่ รูปแบบอาคาร สไตล์ ฯลฯ ก่อนจะนำมาประมวลแล้วกลั่นมาเป็นแบบให้เจ้าของบ้านนำไปสร้าง

นอกจากเรื่องการออกแบบแล้ว บทบาทของสถาปนิกยังครอบคลุมได้ถึง การทำแบบก่อสร้าง แบบประเมินราคา การบริหารงานก่อสร้าง  ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของบ้านจะตกลงว่าจ้างในขอบเขตงานแค่ไหน โดยทั่วไป ถ้าเราจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานวิชาชีพ สถาปนิกจะต้องมีทีมวิศวกรผู้ชำนาญงาน แต่ละด้านซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาร่วมทีมด้วย ตามข้อกำหนด 

หาสถาปนิกได้จากที่ไหนมาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยกันค่ะ คือ เราจะหาสถาปนิกได้จากที่ไหน และมีวิธีเลือกอย่างไร ?

ในเบื้องต้นอาจใช้บริการคนรู้จัก หรือให้คนรอบข้างแนะนำ บางคนอาศัยดูผลงานออกแบบอาคารที่ชอบแล้วสืบหาว่าใครเป็นผู้ออกแบบ อีกวิธีที่ง่ายคือ ติดต่อบริษัทออกแบบ หรือหาจากแหล่งที่เป็นศูนย์รวมสถาปนิก (หรือว่าที่สถาปนิก) อย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ สภาสถาปนิกแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์  เลือกสถาปนิกที่ใช่




เมื่อรู้ว่าจะหาสถาปนิกได้จากที่ไหน ก่อนจะเลือกใช้บริการควรพิจารณาถึงคุณสมบัติของสถาปนิกเสียก่อน ดังนี้


1. ต้องมีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ที่รับรองโดยสภาสถาปนิกฯ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องกับการขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร การควบคุมงาน หรือการตรวจสอบ หรือควบคุมโดยสภาสถาปนิกฯ

2. ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือสถาปนิกอิสระ ควรต้องมีแฟ้มรวบรวมผลงาน (Portfolio) ที่มีภาพและรายละเอียดโครงการ สถานที่ก่อสร้าง งบประมาณ ที่เคยทำมา เพื่อที่จะได้ทราบถึงรูปแบบและความถนัดของงานที่สถาปนิกนั้นๆ เคยทำ ว่าเหมาะกับตัวเจ้าของบ้านทั้งในแง่งบประมาณและสไตล์การออกแบบบ้าน หรือไม่

3. เนื่องจากงานทางสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องกับความงาม หรือศิลปะ และรสนิยม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของบ้านต้องพบปะพูดคุย ซักถามคำถามต่างๆ กับสถาปนิกเพื่อที่จะได้ทราบถึงลักษณะการทำงานโดยรวม และความเข้ากันได้ของทั้งสองฝ่าย  


การที่จะเลือกสถาปนิกได้อย่างถูกใจ สามารถทำงานเข้ากันได้ สื่อสารกันเข้าใจ มีความสามารถในการออกแบบได้สวยงาม เหมาะสมตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องทำการศึกษา ตรวจสอบ ในตัวสถาปนิก หรือบริษัทสถาปนิกให้ถี่ถ้วน และที่สำคัญควรพูดคุยทำความรู้จักกับสถาปนิกเพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการทำงาน หรือสร้างความคุ้นเคย ความเข้าใจในการสื่อสาร ในการที่จะออกแบบบ้านได้ตรงกับความต้องการมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ขั้นตอนการสร้างบ้านเป็นไปโดยราบรื่นตลอดรอดฝั่ง นอกเหนือจากเลือกสถาปนิกที่ใช่แล้วยังต้องอาศัยผู้รับเหมาที่ใช่ด้วย 



ขอขอบคุณแหล่งที่มาจากกิจกรรม HOME GURU คุยสบายสไตล์คนรักบ้าน เดือนมิถุนายน 2557