Chatsittichai Civil Website บริษัท ฉัตรสิทธิ์ติชัย การโยธา จำกัด : รับสร้างโรงงาน รับสร้างอาคาร รับสร้างบ้าน บริการให้คำปรึกษาสินเชื่อด้วนการก่อสร้าง รับต่อเติมบ้าน รับต่อเติมอาคาร รับสร้างโรงงานสมุทรปราการ รับเหมาก่อสร้างกรุงเทพและปริมณฑล
8 สิ่งที่ควรรู้ก่อนจ้างผู้รับเหมา
เพราะผู้รับเหมาดี ๆ ก็มีเยอะ แต่ผู้รับเหมาที่ไม่ได้คุณภาพก็ไม่น้อย ฉะนั้นก่อนที่การสร้างบ้านในฝันจะมีปัญหา มาดูกันดีกว่าว่าการจ้างผู้รับเหมาสักรายควรจะเช็กอะไรบ้าง
การจ้างผู้รับเหมาสักทีม ใช่ว่าการฟังคำพูดที่คนอื่นเล่ามาแบบปากต่อปาก จะสามารถเชื่อถือได้ 100% แต่ควรจะตรวจเช็กรายละเอียดและศึกษาข้อมูลทั้ง 8 ข้อนี้ให้ครบก่อนด้วย ซึ่งถึงแม้อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าจ้างผู้รับเหมาสุ่มสี่สุ่มห้าจนเสียทั้งงานเสียทั้งเงินแบบฟรี ๆ เอาเป็นว่าตอนนี้ไปดูกันก่อนดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนจ้างผู้รับเหมา
8 สิ่งที่ควรรู้ก่อนจ้างผู้รับเหมา (Terrabkk)
เมื่อเวลาผ่านไปบ้านที่เราอยู่ย่อมต้องมีการขยับขยายหรือทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และคงต้องถึงเวลาจ้างผู้รับเหมาหรือช่างมืออาชีพเพื่อช่วยซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านเราให้กลับมาสวยดังเดิมอีกครั้ง ซึ่งหลายครั้งที่เจ้าของบ้านและผู้รับเหมาก็มีปัญหาระหว่างก่อสร้าง บ้างก็ถูกโกง บ้างก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้งานออกมาไม่ถูกใจผู้ว่าจ้าง แต่ละอย่างล้วนเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากเจอ ที่นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งงาน TerraBKK จึงขอแนะนำ 8 สิ่งที่ควรรู้ก่อนจ้างผู้รับเหมามาทำงาน เพื่อเกิดเป็นความเข้าใจเบื้องต้นก่อนจะจ้างผู้รับเหมาดังนี้
1. อย่าคาดหวังถึงความเพอร์เฟค แต่ให้คาดหวังถึงคุณภาพ
เจ้าของบ้านมักคาดหวังกับผู้รับเหมาว่าผลงานที่ออกมาจะต้องเพอร์เฟคและสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ไม่ว่างานอะไรก็ตามไม่มีคำว่า “เพอร์เฟค” โดยเฉพาะงานที่ใช้ฝีมืออย่างทาสี ปูกระเบื้อง หรืองานอะไรก็ตามที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักร หากเป็นแค่เพียงจุดบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าไม่สังเกตก็มองไม่เห็น คุณก็ไม่ควรใส่ใจมากให้เกิดปัญหากันเปล่า ๆ แต่คุณควรโฟกัสที่คุณภาพว่าโดยรวมแล้วงานออกมามีคุณภาพดี สมราคาหรือไม่
2. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา
เพื่อให้เกิดความสบายใจเมื่อต้องจ้างผู้รับเหมาว่าจะได้ผู้รับเหมาที่มีฝีมือ คุณควรตรวจสอบประวัติของผู้รับเหมาว่าผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งหากได้สอบถามจากเจ้าของบ้านคนก่อน ๆ ที่ได้ใช้บริการผู้รับเหมารายนี้ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบ ฟังว่าเสียงส่วนใหญ่พูดถึงผู้รับเหมารายนั้นว่าอย่างไรบ้าง และพึงพอใจกับผลงานมากน้อยแค่ไหน
3. ความปลอดภัยภายในบ้านเป็นความรับผิดชอบทั้งผู้รับเหมาและตัวเจ้าของบ้านเองด้วย
แม้ว่าความปลอดภัยจากไซต์ก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาก็จริง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านเองด้วย เช่น การจัดพื้นที่ให้เอื้อต่อการก่อสร้าง แต่จะให้ดีควรเลือกผู้รับเหมาที่มีการทำประกันภัยสำหรับผู้รับเหมาไว้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยทั้งทรัพย์สิน ตัวเจ้าของบ้าน และผู้รับเหมา
4. แน่ใจว่าผู้รับเหมาที่จ้างเหมาะกับงานนี้แล้ว
เพราะงานช่างมีมากมายหลายประเภท ทั้งงานทาสี ตกแต่ง งานโครงสร้าง หรือวางระบบภายในบ้าน ทำให้งานแต่ละชนิดต้องใช้ช่างที่ต่างกันออกไปตามประเภทของงาน หรือแม้แต่งานประเภทเดียวกันวัสดุคนละประเภท ก็ยังต้องใช้ช่างที่ต่างกันออกไป เช่น ช่างที่ถนัดปูกระเบื้องอาจจะปูพื้นปาร์เก้ได้ไม่ดีนัก ทำให้แต่ละงานจะต้องเลือกผู้รับเหมาและช่างให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ
5. เขียนไกด์ไลน์ไว้ให้ผู้รับเหมา
ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดปัญหาทีหลัง หรือไม่อยากให้งานล่าช้าโดยไม่จำเป็น ระบุไปตั้งแต่แรกเลยว่างานที่ต้องทำมีอะไรบ้าง พร้อมระบุรายละเอียดอื่น ๆ เช่น สเปควัสดุ, แบบงานที่อยากได้, วันที่ต้องส่งมอบงาน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะไปลงรายละเอียดอีกทีเมื่อต้องทำสัญญากัน
6. หาตัวอย่างงานที่อยากได้
หากคิดไอเดียไม่ออกหรือยังวาดภาพในหัวไม่ได้ ลองหาไอเดียจากนิตยสารบ้านหรือภาพในอินเทอร์เน็ตเพื่อมาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงบ้าน นอกจากนี้ยังง่ายต่อการอธิบายกับผู้รับเหมาอีกด้วย เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือสื่อสารไม่ตรงกัน เข้าใจกันไปคนละอย่าง หากมีภาพตัวอย่างช่วยอธิบายจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
7. คำนึงถึงงวดจ่ายเงิน
เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจ้างผู้รับเหมาคือ ตกลงรายละเอียดของการจ่ายเงินให้เรียบร้อยว่าแบ่งออกเป็นกี่งวด งวดละเท่าไหร่ แต่ไม่ควรให้เงินมัดจำ ควรให้มาเริ่มงานก่อนแล้วแบ่งให้สัก 30 % ของงวดแรก ป้องกันการทิ้งงานกลางคัน
8. เกรดวัสดุแต่ละประเภทที่พึงรู้
เนื่องจากเวลาทำสัญญากับผู้รับเหมามีการตกลงกันถึงเรื่องสเปคของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งบางรายอาจจะให้ผู้รับเหมาเป็นผู้หาซื้อวัสดุเอง เพราะง่ายและสบายกว่า แต่ทั้งนี้อย่าลืมเช็กด้วยว่าวัสดุที่ซื้อมาเป็นไปตามที่ตกลงกันหรือไม่ เช่น ตกลงไว้ว่าใช้กระเบื้องสีขาวมุกเกรด A แต่พอซื้อมาจริง ๆ เป็นกระเบื้องสีขาวมุกเกรด B ซึ่งตรงนี้เจ้าของบ้านควรจะมีความรู้ในการดูวัสดุด้วยว่า วัสดุที่ผู้รับเหมานำมาติดตั้งให้นั้นตรงกับสเปคที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่
ทั้งหมดนี้ ท่านที่กำลังมองหาช่างรับเหมาควรศึกษาไว้เพื่อทำความเข้าใจกันระหว่างเจ้าของบ้านและผู้รับเหมา ป้องกันปัญหาที่จะตามมา หรือเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขอบคุณข้อมูลจาก terrabkk