แบงก์เฉือนเนื้อ ดบ.กู้บ้านต่ำ 4% เพิ่มอุณหภูมิแข่งเดือด-ดูดลูกค้าพ่วงใช้บริการอื่น
แบงก์แข่งดุสินเชื่อบ้านโค้งท้ายปี ชูดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก ต่ำแค่ 4% ขณะที่ดบ.ฝากสูงราว 3% ยอมเฉือนเนื้อหวังต่อยอดลูกค้าใช้บริการการเงินด้านอื่น "กสิกรไทย" เมินตัดราคาสู้ ระบุสัญญาณ "ยอดโอน-จดจำนอง" เพิ่มขึ้นแล้ว ด้าน "ซีไอเอ็มบี ไทย" เกาะ ดีเวลอปเปอร์ต่างจังหวัด ดันสินเชื่อโตพุ่ง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้แข่งขันกันในรูปของอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่อัตรา 4-5% ต่อปี เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราที่เทียบเท่าต้นทุนหรือขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดก็ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ต่อปี อีกทั้งยังมีค่าบริหารจัดการอีกด้วย
สำหรับธนาคารกสิกรไทยยังไม่ได้เข้าไปแข่งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยกับตลาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มีความชัดเจนนัก ทำให้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเติบโตไม่สูงมากนัก โดยยอด สินเชื่อคงค้างเติบโตเพียง 4% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ปีนี้จึงยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ 7-8% หรือ 15,000-17,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท
"ในช่วง 9 เดือนแรกเราปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 31,000-32,000 ล้านบาท และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายเราต้องปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอีก 17,000-18,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้ตามเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 49,000 ล้านบาท เราเชื่อว่าจะสามารถทำได้เพราะ ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการทยอยโอน และจดจำนองขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ตามความมั่นใจต่อสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ดีขึ้น" นายชาติชายกล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อมากกว่าการเติบโตที่ระดับสูง ๆ โดยยังเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผล กระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ส่วนลูกค้าในต่างจังหวัดที่มีรายได้อิงกับพืชผลทางการเกษตรยอมรับว่าได้รับผล กระทบจากราคาพืชผลที่ตกต่ำพอสมควร แม้จะเป็นตลาดที่น่าสนใจแต่ระยะนี้คงต้องจับตาดูไปก่อน
ด้านนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก โดยแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยใน 3 ปีแรก ซึ่งระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดอยู่ที่ 4.2% จากปกติอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่สูงกว่า 5% ขณะที่ฝั่งดีเวลอปเปอร์ก็ร่วมทำแคมเปญลดแลกแจกแถมผสมโรงกันด้วย
"เรายอมรับว่าเข้าไปแข่งขันในตลาด สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น และ ต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มได้"
ส่วนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตในระดับที่ค่อนข้างสูงมากหากเทียบกับเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 17,000-18,000 ล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นสุทธิจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบัน ยอดสินเชื่อ คงค้างของธนาคารเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 25-26% หรือขยับมาอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท จากระดับ 35,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2556
สำหรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารจะเน้นขยายตัวไปกับการเปิดโครงการใหม่ของบริษัทพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) โดยเฉพาะในเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมตามต่างจังหวัด ซึ่งเน้นในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะมีทั้ง ที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง ส่วนใหญ่ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ในกลุ่มลูกค้ารายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ด้านทิศทางการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2558 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่น้อย ทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงและการซื้อเพื่อปล่อยเช่า
ขอบคุณข้อมูล: ประชาชาติธุรกิจ