รัฐหนุนเอกชนทำบ้านเบอร์ 5 เปิดโครงการอาคารติดฉลาก

รัฐหนุนเอกชนทำบ้านเบอร์ 5 เปิดโครงการอาคารติดฉลาก

   
> ตั้งเป้าลดค่าไฟปีละ 3 หมื่นล้าน

การอนุรักษ์พลังงาน นับเป็นหนทางหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านพลังงานทั้งปัจจุบัน และในอนาคตได้ดีที่สุด ล่าสุดกระทรวงพลังงานก็เกิดแนวความคิด “โครงการดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคารโดยการติดฉลาก” เพื่อเป็นการผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนและกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ พลังงานในอาคาร และบ้านที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้เจ้าของอาคารหรือผู้ใช้อาคารตระหนักถึงคุณค่าความ สำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์พลังงาน

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ ในอาคาร โดยการติดฉลาก เพื่อจะเป็นแบบอย่างของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขั้นสูง ในอาคารทุกประเภท ทั้งอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดกลาง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการอยู่อาศัย ตลอด จนถึงบ้านพักอาศัย ซึ่งผู้ใช้พลังงานกลุ่มนี้มีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้งหมดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้มีเป้าหมายการประหยัดพลังงานในอาคารที่เข้าร่วมโครงการประมาณร้อยละ 10-20 หากประเมินเป็นมูลค่าการประหยัดพลังงานโดยรวม ในกลุ่มผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดแล้วจะทำให้เกิดการประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร โดยการติดฉลาก จะเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้เช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารประเภทบ้านพักอาศัยจัดสรร อาคารชุด อาคารสำนักงาน ห้องสมุด โรงพยาบาล โรงแรมศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์การค้า โดยมีสิทธิประโยชน์ในการได้รับคำแนะนำการออกแบบอาคาร เพื่อการอนุรักษ์พลังงานจากผู้เชี่ยวชาญ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อาคารที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานผ่านทางสื่อต่างๆ

สำหรับฉลากรับรองความเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับคือ ฉลากอาคารอนุรักษ์พลังงานระดับดีเด่น เป็นฉลากสีทอง ฉลากอาคารอนุรักษ์พลังงานระดับ ดีมากเป็นฉลากสีเงิน และฉลากอาคารอนุรักษ์ พลังงานระดับดี เป็นฉลากสีทองแดง โดยโครงการนี้มีการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่าง มาก มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเข้ามาแล้วถึง 800 ราย กว่า 50 แบบ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อควบคุมให้การออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ 3 ประเภทหลัก ขนาดตั้งแต่ 2 พันตร.ม.ขึ้นไป จะต้องควบคุมการใช้พลังงานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคาร และกฎกระทรวงดังกล่าวกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นผู้นำเสนอ เพราะการขออนุญาตก่อสร้างอาคารอยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการฯ ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เตรียมนำเสนอคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อจากนั้นนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ตีความและส่งเรื่องกลับมายังครม. ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปีหน้า

สำหรับอาคารที่อยู่ในข่ายที่ต้องควบคุม ได้แก่ ประเภทที่ 1 สำนักงาน, สถานศึกษา, ประเภทที่ 2 ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าย่อย, ศูนย์การค้าหรือซูเปอร์สโตร์ และประเภทที่ 3 โรงแรม, โรงพยาบาล, สถานพักฟื้น

ส่วนข้อกำหนดการใช้พลังงานในอาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้างใหม่ ได้แก่ 1.ค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านกรอบอาคาร (OTTV, RTTV) ประเภท 1 ค่า OTTV ของผนังด้านนอกอาคารไม่น้อยกว่า 50 วัตต์/ตร.ม. ประเภทที่ 2 ไม่น้อยว่า 40 วัตต์/ตร.ม. และประเภทที่ 3 ไม่น้อยกว่า 30 วัตต์/ตร.ม.

2.ค่ามาตรฐานกำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุดสำหรับอาคารประเภทที่ 1 สูงสุด 14 วัตต์/ตร.ม., ประเภทที่ 2 สูงสุด 12 วัตต์/ตร.ม., ประเภทที่ 3 สูงสุด 18 วัตต์/ตร.ม., 3.ค่ามาตรฐานสำหรับระบบปรับอากาศ แบ่งตามขนาดได้แก่ ขนาดเล็ก, ขนาดใหญ่และเครื่องทำความเย็นแบบดูดกลืน, 4.ค่ามาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ผลิตความร้อน และ 5.ค่ามาตรฐานการใช้พลังงานโดยรวม

ด้านนายอำนวย ทองสถิตย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า พพ. ได้เริ่มดำเนินการเป็นการนำร่องก่อนโดยใช้เวลาต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งมอบหมายให้สถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ และเนื่องจากหากมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ข้อกำหนดการใช้พลังงานในอาคาร (Building Energy Code) จะมีการบังคับใช้เฉพาะกับอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างใหม่หรืออาคารที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2 พันตารางเมตรขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายที่จะคัดเลือกอาคารเข้าร่วมโครงการในระยะแรก 200 ยูนิต

โดยจะเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจประเภทอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ อาคารแสดงสินค้า ห้องสมุด โรงพยาบาล โรงแรม ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถแจ้งความจำนงเข้าร่วม โครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

สำหรับผู้ที่แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการ และได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการจะได้รับบริการคำแนะนำการออกแบบปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงาน จากคณะผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาของโครงการ และผ่านการพิจารณาจะได้รับคำแนะนำปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานฉลาก จนอาคารแล้วเสร็จ แล้วประเมินอาคารอีกครั้งเพื่อติดฉลาก

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เชื่อว่าโครงการนี้จะได้รับความสนใจเข้าร่วมจากเจ้าของอาคารและมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานของประเทศอย่างน้อย 10% ของอาคารทั่วไป

ด้าน รศ.ธนิต จินดาวณิค หัวหน้าโครงการดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคารกล่าวว่า ด้านการออกแบบก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ไม่น่าห่วงเพราะหากเป็นการออกแบบก่อสร้างใหม่จะไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากนักหรือไม่เกิน 1% เมื่อเทียบกับการประหยัดพลังงานในระยะยาว อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่เสนอขายในตลาดปัจจุบันผลิตขึ้นมาเพื่อลดการใช้พลังงานเกือบ ทุกชนิดอยู่แล้ว