FOCUS แตกไลน์จับอสังหาฯ ลดความเสี่ยง-เพิ่มรายได้-ดันกำไร

2552 นับเป็นปีหฤโหดของกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาเหล็กที่พุ่งขึ้นถึง ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำร้ายผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่

 



"ผมคิดว่า ปี 2552 ที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายไหนที่กล้าพูดว่าปีที่แล้วเป็นปีที่ดีสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะปัจจัยลบมันรุมเร้าไปหมด เศรษฐกิจไม่ดี การลงทุนภาครัฐก็ไม่มี เอกชนก็ไม่กล้าลงทุนเช่นกัน คิดว่าดีสุดก็คือประคองตัวไม่ให้ผลประกอบการแย่กว่าปี 2551" นนทวัฒน์ ทองมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟคัส ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น (FOCUS) เปิดมุมมอง

 



นนทวัฒน์ ยอมรับว่า
FOCUS ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยลบต่างๆ จึงทำให้ผลประกอบการปี 2552 ออกมาไม่น่าประทับใจนัก โดยรายได้รวมอาจจะใกล้เคียงกับปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น/ลดลงไม่มากนัก แต่ในแง่กำไรสุทธิอาจจะดีกว่าปี 2551

 



โดยปี
2552 น่าจะพลิกเป็นมีกำไรสุทธิได้ หลังจากงวด 9 เดือนบริษัทมีรายได้รวม 537.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.03% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 419.62 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.24 ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 9.72 ล้านบาท

 



FOCUS ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไป โดยรับเหมางานจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน งานของภาครัฐบริษัทจะรับงานก่อสร้างในลักษณะเป็นผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง ส่วนงานของภาคเอกชน บริษัทจะรับงานก่อสร้างในลักษณะเป็นผู้รับเหมาหลัก ซึ่งจะเน้นรับงานก่อสร้างของภาคเอกชนไทยที่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งและบริษัทข้ามชาติที่มีความมั่นคง เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง

 



*** ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 30-40%

 



นนทวัฒน์ กล่าวว่า แม้ปีที่แล้วจะเป็นปีที่ไม่ดีนัก แต่ปีนี้ จะต้องเป็นปีที่บริษัทมีการเติบโตอย่างน้อย
30-40% จากปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันมียอดมูลค่างานในมือรอการรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปี 2553 นี้ ขณะเดียวกัน มีแผนจะเข้าประมูลงานเพิ่มอีกเพื่อเพิ่ม Backlog ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท ซึ่งใน 1-2 เดือนแรกปีนี้ บริษัทประมูลงานไปแล้ว รวมมูลค่า 2,600 ล้านบาท เป็นงานภาครัฐ 1,800 ล้านบาท และงานเอกชน 800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะชนะประมูลประมาณ 10-20% ของมูลค่างานที่ยื่นประมูล

 



สำหรับประเภทงานที่จะยื่นประมูลในปีนี้ จะปรับเปลี่ยนไปจากปีที่แล้ว โดยจะเน้นยื่นประมูลงานภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการผลักดันเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านโครงการไทยเข้มแข็งที่มีมูลค่ากว่า
1.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ประเมินว่าสัดส่วนรายได้ปีนี้จะมาจากงานภาครัฐ 50% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 25% และจะมีรายได้จากงานเอกชน 50% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 75%

 



"สาเหตุที่สัดส่วนรายได้เปลี่ยน ก็เพราะภาพรวมอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป ปีนี้การลงทุนภาครัฐภาคเอกชน เราก็ปรับตัวตามไป แต่ก็ไม่ได้ยื่นประมูลโครงการรัฐทุกโครงการ เพราะต้องยอมรับว่างานภาครัฐเป็นงานที่ให้มาร์จินต่ำ แต่มีข้อดีคือความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระต่ำกว่าภาคเอกชน"

 



ทั้งนี้ ประเมินว่างานภาคเอกชนน่าจะกลับมาในครึ่งปีหลัง เพราะภาคเอกชนคงรอให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่านี้ก่อน โดยขณะนี้ ก็ได้รับข้อมูลมาว่าบริษัทเอกชนส่วนมากเริ่มว่าจ้างผู้เขียนแบบและผู้ให้บริการตกแต่งแล้ว เชื่อว่าในครึ่งปีหลัง งานภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น และทำให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในการหาแบ็คล็อกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

 



*** เพิ่มขาธุรกิจลดเสี่ยง
 

 



แม้จะมีความคาดหวังว่างานรับเหมาก่อสร้างปีนี้จะบูมขึ้น แต่บริษัทก็จะเริ่มทำธุรกิจใหม่เพื่อลบความเสี่ยงของการพึ่งพารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจและมีปัจจัยที่กระทบต่อผลการดำเนินงานค่อนข้างมาก ปีนี้บริษัทจึงจะเริ่มมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งขาธุรกิจ

 



นนทวัฒน์ กล่าวว่า ปี
2553 บริษัทจะมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 2 โครงการ โดยโครงการแรก เป็นโครงการคอนโดมิเนียม ย่านศาลาแดง มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท คาดเปิดตัวในไตรมาส 3/2553 และจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ประมาณ 10% ของมูลค่าโครงการ ที่เหลือจะรับรู้รายได้ในปีหน้า ส่วนอีก 1 โครงการอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกทำเล มูลค่าโครงการประมาณ 300 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีกระแสเงินสดรองรับการขยายธุรกิจประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อไตรมาส

 



"ที่เลือกทำอสังหาริมทรัพย์ ก็เพราะบอร์ดเห็นพ้องกันว่าเป็นธุรกิจที่ต่อยอดและผู้บริหารหลายท่านก็มีประสบการณ์มาก่อน ธุรกิจนี้ส่วนมากมีมาร์จินประมาณ 20% ซึ่งสูงกว่ามาร์จินของรับเหมาก่อสร้างที่อยู่ประมาณ 7-8% เท่านั้น ถ้าทำแต่รับเหมาก่อสร้าง กำไรก็จะไม่โต"

 



นนทวัฒน์ กล่าวอีกว่า โอกาสในการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่จบสิ้น เพราะบริษัทมีแผนจะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุน โดยสิ่งที่บริษัทให้ความสนใจ คือ ผลตอบแทนจากการลงทุน และหากได้ความชัดเจนเมื่อไรก็จะลงทุนทันที โดยเม็ดเงินลงทุนจะนำมาจากเงินขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (
PP) จำนวน 200 ล้านหุ้น

 



อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มหุ้นแบบ
PP บริษัทไม่จำกัดการขยายธุรกิจอยู่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนอย่างคุ้มค่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการพลังงานทดแทนอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และเป็นกระแสที่ผู้บริโภคและภาคการผลิตให้ความสนใจ

 



"เรื่องการขายหุ้น PP 200 ล้านหุ้น มีความเป็นไปได้ว่าจะจบเร็วๆ นี้ และอาจจะยืดเยื้อไปอีก ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษาความเป็นไปได้โครงการและผลตอบแทนได้เร็วแค่ไหน ถ้าเจอโครงการที่ใช่ ก็จะบอกกับพันธมิตรที่คุยกันอยู่เพื่อขายหุ้นและเอาเงินมาลงทุนทันที จะไม่มีการขายหุ้นไปก่อน เพื่อเอาเงินที่ได้มาแช่ไว้แล่นๆ เรียกว่าเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างเรากับพันธมิตร"

 



*** วางเป้า 3 ปี โกยรายได้ 1.5-2 พันล้านบาท

 



นนทวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะเริ่มเห็นผลจริงจังในปี
2553 นี้ บริษัทได้นำมาเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ การเน้นสร้างกำไรให้มีการเติบโต มากกว่าการเน้นยอดขายหรือรายได้ โดยกำหนดแนวนโยบาย ว่า ใน 3 ปี หรือปี 2556 บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี มีมูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี และมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีผลกำไรสูงในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่สามารถกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนได้ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ชัด รวมถึงโครงการลงทุนในธุรกิจที่ผลตอบแทนที่ดีก็ยังไม่มีรายละเอียด

 



"ต่อไปบริษัทจะเริ่มเน้นการทำกำไรมากกว่าการหารายได้เพิ่มแต่กำไรไม่โต การอยู่กับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างเดียวไม่ทำให้กำไรสุทธิโตในอัตราที่น่าพอใจ เพราะมี gross margin 7-8% ส่วน net margin อยู่ที่ 0-3% แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มี gross 20% หากบริหารจัดการดี net margin ก็สูงได้"

 



เขากล่าวเพิ่มอีกว่า ในอนาคตบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และไม่มีเป้าหมายที่จะสร้างความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างด้านใดด้านหนึ่ง
(Niche Market) เพราะมองว่าการเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องมีเครื่องจักรเพิ่มในการดำเนินงาน ณ จุดหนึ่งที่มีแบ็คล็อกสูง หรือมีงานโครงการใหญ่มาก ซึ่งการเพิ่มเครื่องจักรจะทำให้ต้นทุนคงที่เสริมขึ้น และจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงในกรณีที่งานก่อสร้างหดตัวอย่างรุนแรง เหมือนเหตุการณ์ในปีที่แล้ว

 



ขณะเดียวกัน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จะจำกัดโอกาสในการเติบโตของบริษัท ในช่วงเวลาที่ตลาดงานรับเหมาทั่วไป (
General) เปิดกว้างและมีความต้องการมาก อีกทั้งการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ต้องอาศัยเวลาและบุคลากร

 



"หากถามว่า ในระยะสั้น-กลาง หรือประมาณ 1-3 ปีข้างหน้า บริษัทวางเป้าหมายอย่างไร คำตอบ ก็คือ การเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และเป็นบริษัทที่สามารถปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาครับเหมาก่อสร้างโดยตรง" นนทวัฒน์ กล่าวส่งท้าย

 




ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 2/02/2553